มาเลเซีย
-
หน้าหลัก
- ทวิภาคี
ชายแดนไทย-มาเลเซีย
และศุลกากร
ไทยมีจังหวัดที่มีพรมแดนทางบกติดกับมาเลเซีย คือ สตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส
ซึ่งแต่ละจังหวัดมีด่านศุลกากรที่เป็นจุดเชื่อมต่อการข้ามพรมแดนของสินค้า ทั้งทางรถยนต์
และทางรถไฟ ดังนี้
· ด่านศุลกากรวังประจัน จังหวัดสตูล
· ด่านศุลกากรบ้านประกอบ ด่านศุลกากรสะเดา และด่านศุลกากรปาดังเบซาร์
จังหวัดสงขลา
· ด่านศุลกากร เบตง จังหวัดยะลา
· ด่านศุลกากรตากใบ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก และด่านศุลกากรบูเก๊ะตา
จังหวัดนราธิวาส
โดยด่านที่มีมูลค่าการค้าสูง ได้แก่ ด่านศุลกากรสะเดา ซึ่งเป็นด่านทางบกที่ผ่านไปสู่รัฐเกดะห์
ตามด้วยด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ และด่านศุลกากรสุไหง-โกลก
ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-มาเลเซีย
ไทยและมาเลเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2500 โดยความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียได้พัฒนาเป็นความร่วมมือในหลายๆ
กรอบความร่วมมือ ซึ่งนอกจากความสัมพันธ์ผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคี เช่น ASEAN APEC แล้ว ไทยและมาเลเซีย ยังได้มีความร่วมมือระดับทวิภาคีในเรื่องต่างๆ
โดยจัดทำเป็นความตกลง และบันทึกความเข้าใจ ทั้งนี้ความร่วมมือสำคัญๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานศุลกากร
มีดังนี้
องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
(MTJA)
รัฐบาลไทยและมาเลเซีย
ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อก่อตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand
Joint Authority : MTJA) เมื่อปี 2522 เพื่อบริหารจัดการพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน ที่เรียกว่า
"พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย" (Joint
Development Area : JDA) ซึ่งคลุมพื้นที่ในอ่าวไทยถึง 7,250 ตารางกิโลเมตร โดยเป็นความตกลงที่จะพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกันโดยใช้หลักการแบ่งผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายเท่ากันทั้งสองฝ่าย
โดยในส่วนของศุลกากร
ได้มีคณะกรรมการร่วมทางศุลกากร (Joint Customs Committee : JCC) จากตัวแทนทั้งสองประเทศเพื่อสนับสนุนและแก้ไขประเด็นปัญหาตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
คณะกรรมการร่วมทางการค้า
(JTC)
ไทยและมาเลเซียได้มีความตกลงว่าด้วยการค้าทวิภาคี
ลงนามเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2543 และมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-มาเลเซีย
(Joint Trade Committee: JTC) ขึ้นภายใต้ความตกลงดังกล่าว
บันทึกความเข้าใจเพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการในการเคลื่อนย้ายสินค้า
ไทยและมาเลเซียได้ลงนาม
บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการในการเคลื่อนย้ายสินค้า
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2546 โดยมีนโยบายให้ความสำคัญกับสินค้านำเข้า และลดหรือยกเลิกการตรวจสินค้าส่งออกโดยนำหลักบริหารความเสี่ยงมาใช้
รวมถึงการตรวจสินค้า ณ จุดเดียว และการเชื่อมข้อมูลแบบไร้เอกสาร
กรอบความร่วมมือว่าด้วยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย
- มาเลเซีย (JDS)
ไทยและมาเลเซียได้จัดตั้งคณะกรรมการ ว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย
- มาเลเซีย (Thailand - Malaysia
Committee on Joint Development Strategy for border areas : JDS) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2547
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกลไกพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ
โดยกำหนดกรอบความร่วมมือในหลายสาขา เช่น การท่องเที่ยว การเงินการคลัง
ในส่วนของศุลกากร ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง คือ กรอบความร่วมมือสาขาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่ง
และกรอบความร่วมมือสาขาการค้าและการลงทุน
วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 3 มีนาคม 2560 10:59:54
จำนวนผู้เข้าชม : 5,624
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมศุลกากร เลขที่ 1 ถ.สุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110
หมายเลขโทรศัพท์ : +662-667-7609