กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
Strategy and Planning Division
 

ส่วนวางแผนและประเมินผล

ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ

ส่วนวิเคราะห์และติดตามการจัดเก็บภาษีอากร

สถิติการเข้าชมเว็บ

  • 1 เข้าชม ณ เวลานี้
  • 41 เข้าชมวันนี้
  • 556 เข้าชมเดือนนี้
  • 46,198 เข้าชมทั้งหมด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมศุลกากร เลขที่ 1 ถ.สุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110
หมายเลขโทรศัพท์ : +662-667-7609 โทรสาร : +662-667-6864

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)

(Asia-Pacific Economic Cooperation-APEC)

ความเป็นมาของ APEC

“เอเปค (APEC)” เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจ1 (economy) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) โดยนาย Bob Hawke นายกรัฐมนตรี ออสเตรเลียในขณะนั้น ที่มองว่า ออสเตรเลียจำเป็นต้องเกาะเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกและทวีปอเมริกาเหนือ ท่ามกลางแนวโน้มของการขยายกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกา เหนือ และความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ไทยอยู่ในสมาชิกแรกเริ่มของเอเปค ตั้งแต่ต้น ซึ่งมี 12 เขตเศรษฐกิจ1 คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์ ไทย และสหรัฐอเมริกา ต่อมาเอเปคได้รับสมาชิกเพิ่มในปีต่างๆ รวมเป็น 21 เขตเศรษฐกิจ ดังนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีน (2534) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง (2534) จีนไทเป (2534) เม็กซิโก (2536) ปาปัวนิวกินี (2536) ชิลี (2537) เปรู (2540) เวียดนาม (2540) และรัสเซีย (2540)

เอเปคเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีพลังและพลวัตรของการเจริญเติบโตสูงสุดของโลก กลุ่มสมาชิกเอเปค มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) รวมกันกว่า 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของ โลก มีสัดส่วนการค้ากว่าร้อยละ 41 ของมูลค่าการค้าโลก และสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปคสูงถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด

เอเปคสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแบบเปิดกว้าง (open regionalism) โดย สิทธิประโยชน์ที่สมาชิกเอเปค ให้แก่กันจะมีผลให้ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกเอเปค ได้รับประโยชน์ด้วย (ปกติกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นจะให้สิทธิประโยชน์แก่กันและกันเฉพาะในกลุ่ม และใช้หลักการเจรจาต่างตอบแทนเพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์กับประเทศที่มิ ได้เป็นสมาชิก) เอเปคมีเป้าหมายสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี (multilateral trading system) โดยการดำเนินการของเอเปค จะเป็นการหารืออย่างตรงไปตรงมา มิใช่การเจรจาแต่ยึดหลักการฉันทามติ (consensus) และความสมัครใจ (voluntarism) ของทุกฝ่าย ความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก โดยคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจและสังคม และระดับการพัฒนาของสมาชิก

เป้าหมายของเอเปค คือ เป้าหมายโบกอร์ ที่สมาชิกเอเปค เห็นชอบในระหว่างการประชุมผู้นำฯ ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 2537 ที่จะให้มีการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก โดยเริ่มจากสมาชิกที่พัฒนาแล้วภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010) และสมาชิกกำลังพัฒนาที่เหลือภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020)

--------------------------------------------------------------------------------

1 ในบริบทของเอเปคจะใช้คำว่า “เขตเศรษฐกิจ (economy)” แทนคำว่า “ประเทศ” เนื่องจากสมาชิกของเอเปค สองราย คือ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และจีนไทเป มิได้มีสถานะเป็นประเทศ แต่ได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกในฐานะที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก


หลักการและวัตถุประสงค์ของ APEC

หลักการของเอเปค ก็คือ เป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหรือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจที่ประเทศสมาชิกเอเปค สนใจ โดยยึดหลักฉันทามติความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก และในการดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจและสังคม และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ

• พัฒนาและส่งเสริมระบบการค้าหลายฝ่าย

• สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก

• ลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกให้การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุนระหว่างประเทศ  สมาชิก โดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของแกตต์


โครงสร้างของ APEC

สมาชิกเอเปค ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ จะผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค รวมทั้งดำรงตำแหน่งประธานการประชุม (APEC Chair) ในแต่ละปี เขตเศรษฐกิจใดที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมจะดำรงตำแหน่งประธานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders Meeting – ALEM) การประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting - AMM) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (Senior Officials Meeting - SOM) และการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC 

Business Advisory Council - ABAC) ที่จะมีขึ้นในระหว่างปีนั้นด้วย

กลไกลการทำงานของเอเปค แบ่งการดำเนินงานออกเป็นสองระดับได้แก่ 1) ระดับนโยบาย และ 2) ระดับปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. ระดับนโยบาย

1.1. การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders Meeting – ALEM) สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคซึ่งเป็นเจ้าภาพจะจัดการประชุมดังกล่าวปีละ 1 ครั้ง โดยจะมีการประกาศนโยบายและเป้าหมายการดำเนินงานของเอเปคในปีต่อไปในรูปของปฎิญญาผู้นำเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders Declaration)

1.2. การประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting - AMM) รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีพาณิชย์หรือรัฐมนตรีเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจสมาชิกจะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นก่อนการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ที่ประชุมจะทบทวนกิจกรรมของเอเปคตลอดปีที่ผ่านมา และประมวลข้อเสนอแนะ เพื่อเสนอแนะให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

1.3. การประชุมรัฐมนตรีสาขาต่างๆ (Sectoral Ministerial Meeting) จะกำกับดูแลความร่วมมือ

ด้านการศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน การคลัง สาธารณสุข การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยว การค้า คมนาคม กิจการสตรี ฯลฯ

1.4. คณะกรรมการที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council - ABAC) เอเปคซึ่งจะประกอบด้วยตัวแทนนักธุรกิจจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคจำนวนเขตเศรษฐกิจละ 3 คน ทำหน้าที่เสนอมุมมอง และข้อคิดเห็นของภาคธุรกิจเอเปคต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ในรูปแบบของรายงานปีละ 1 ครั้ง โดยเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการลงทุนในภูมิภาค ABAC จะจัดการประชุมภายในกันปีละ 4 ครั้ง

2. ระดับปฎิบัติ

2.1. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials Meeting - SOM) ทำหน้าที่ดำเนินการตามบัญชาของรัฐมนตรี โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสจะให้แนวทางแก่คณะกรรมการ คณะทำงานและกลุ่มทำงานต่างๆของเอเปค และรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีและผู้นำเขตเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสจะประชุมกันปีละ 3-4 ครั้ง โดยประธานจะมาจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีนั้น

2.2. คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment - CTI) ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือเอเปคด้านการเปิดเสรี และอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน CTI จะดำเนินการเพื่อนำไปสู่การลดอุปสรรคทางการค้า ผ่านคณะอนุกรรมการและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญดังต่อไปนี้

• คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการทำให้ได้มาตรฐาน (Sub-Committee on Standards and Conformance)

• คณะอนุกรรมการด้านขั้นตอนภาษีอากร (Sub-Committee on Customs Procedures)

• กลุ่มทำงานด้านการเข้าถึงตลาด (Market Access Group)

• กลุ่มงานด้านบริการ (Group on Service)กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน (Investment Experts Group)

• กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights Experts Group)

• กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนย้ายนักธุรกิจ (Business Mobility Group)

• กลุ่มทำงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce Steering Group)

• นอกจากนี้ ยังมีเวทีการหารือร่วมภาครัฐและภาคเอกชน 4 ด้าน ได้แก่ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

2.3. คณะกรรมการด้านงบประมาณและการบริหาร (Budget and Management Committee - BMC) ให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านงบประมาณ การบริหารและการจัดการ และทำหน้าที่ติดตามและประเมินการดำเนินงานของโครงการต่างๆ ของคณะกรรมการ คณะทำงาน และกลุ่มทำงานต่างๆ ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณของเอเปค ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะแก่เจ้าหน้าที่อาวุโสในเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของเอเปค

2.4. คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ (Economic Committee - EC) ทำหน้าที่ศึกษา วิจัย หารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางและประเด็นทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่อยู่ในความสนใจ รวมทั้งด้านการปรับโครงสร้างภายใน ซึ่งเรียกว่าประเด็นหลังพรมแดน (behind border issues) และยุทธศาสตร์ด้านการเจริญเติบโต โดยมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายด้านการแข่งขันและกฎหมาย

2.5. คณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Steering Committee on Economic and Technical Cooperation - SCE) ทำหน้าที่กำหนดเป้าหมายและจัดลำดับของกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการของเอเปค ตลอดจนสนับสนุนการริเริ่มกิจกรรมเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เพื่อให้กิจกรรมเหล่านั้นบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายที่กำหนดโดยรัฐมนตรีและผู้นำ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่มดังต่อไปนี้

ระดับคณะทำงาน (Working Groups) ดำเนินงานในสาขาของตนตามที่ได้รับบัญชาจากผู้นำเขตเศรษฐกิจ รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโส เอเปค ซึ่งมีทั้งหมด 12 คณะทำงาน ได้แก่

• คณะทำงานด้านความร่วมมือวิชาการการเกษตร (Agricultural Technical Cooperation )

• คณะทำงานด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใส (Anti – Corruption and Transparency)

• คณะทำงานด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (Counter Terrorism)

• คณะทำงานด้านการเตรียมการด้านภัยพิบัติ (Emergency Preparedness)

• คณะทำงานด้านพลังงาน (Energy)กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (Experts Group on Illegal Logging and Associated Trade)คณะทำงานด้านสุขภาพ (Health Working Group)

• คณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources Development)

• คณะทำงานด้านมหาสมุทรและการประมง (Fisheries)

• คณะทำงานด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises)

• คณะทำงานด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศ (Telecommunications and Information)

• คณะทำงานด้านการท่องเที่ยว (Tourism)

• คณะทำงานด้านการคมนาคม (Transportation)

ระดับกลุ่มทำงานพิเศษ ได้แก่ กลุ่มทำงานพิเศษด้านเหมืองแร่ (Special Task Group on Mining)

ระดับหุ้นส่วนเชิงนโยบายภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนใน 3 สาขา ได้แก่

• หุ้นส่วนเชิงนโยบายภาครัฐและภาคเอกชนด้านการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบเศรษฐกิจ (Women and the Economy)

• หุ้นส่วนเชิงนโยบายภาครัฐและภาคเอกชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science Technology and Innovation)

• หุ้นส่วนเชิงนโยบายภาครัฐและภาคเอกชนด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

2.6. กลุ่มความร่วมมือและความริเริ่มอื่นๆ มีบทบาทในการสนับสนุนเป้าหมายของเอเปค ซึ่งมีทั้งที่อยู่นอกเหนือโครงสร้างของคณะกรรมการและคณะทำงานของเอเปคอื่นๆ ได้แก่กระบวนการหารือรัฐมนตรีคลัง (Finance Ministers’ Process) ความร่วมมือระหว่างศูนย์ศึกษาเอเปค (APEC Study Centers Consortium) การหารือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Business Government Dialogues) และการหารือระดับอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้ดังกล่าวข้างต้น

2.7. สำนักเลขาธิการเอเปค (APEC Secretariat) มีที่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนกระบวนการเอเปคเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ทำหน้าที่ประสานงาน และให้ข้อมูลแก่องค์กรภายในของเอเปค รวมทั้งให้บริการแก่สาธารณชนเกี่ยวกับข้อมูลเอเปค นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการฯ ยังมีหน้าที่ประสานและจัดสรรงบประมาณสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของเอเปคด้วย

credit: http://www.mfa.go.th/business/th/customize/16529-ความรู้เกี่ยวกับเอเปค.html

http://eco-cooperation.mobile.exteen.com/20100214/apec


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 19 เมษายน 2559 13:35:45
จำนวนผู้เข้าชม : 44,345
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ
กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมศุลกากร เลขที่ 1 ถ.สุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110
หมายเลขโทรศัพท์ : +662-667-7609

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน
ลิขสิทธิ์ © 2015 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมผลและคลังข้อมูล ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ